ชนหัวทุ่ง “ต้นแบบชุมชนพึ่งตนเอง” กับการสร้างภาคีในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

ชนหัวทุ่ง “ต้นแบบชุมชนพึ่งตนเอง” กับการสร้างภาคีในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

นับตั้งแต่ชุมชนหัวทุ่งได้ดำเนินการวิจัยตามโครงการ “การปรับตัววิถีพึ่งตนเองบนฐานทรัพยากรของชุมชนบ้านหัวทุ่ง ตำบลเชียงดาว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่” คณะนักวิจัย และคนในชุมชนได้ใช้กระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่นในการค้นหาและจัดการองค์ความรู้ที่มีอยู่ในชุมชนอย่างเป็นระบบ สามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับมาใช้ในการสร้างแนวทางการปรับตัวเพื่อการพึ่งตนเองบนฐานทรัพยากรของชุมชน ไม่เพียงเท่านั้นตลอดระยะการดำเนินงานวิจัย ชุมชนยังได้ออกแบบกระบวนการและกิจกรรมการวิจัยที่ทำให้ชุมชนดำเนินการวิจัยร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทำให้การวิจัยในครั้งนี้สร้างองค์ความรู้ที่สามารถแก้ปัญหาของชุมชน และตอบโจทย์ที่คนในชุมชนต้องการได้อย่างแท้จริง

หลังจากที่ได้ดำเนินการวิจัยแล้วเสร็จ คณะนักวิจัยและชาวหัวทุ่งได้จัดกิจกรรมนำเสนอข้อมูลจากการวิจัยเมื่อวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา ในหัวข้อ “เดินหน้าสู่ต้นแบบการพัฒนาชุมชนพึ่งตนเองอย่างยั่งยืนแบบองค์รวม”เพื่อนำเสนอข้อมูลและองค์ความรู้ที่ได้รับจากการวิจัยในครั้งนี้ให้แก่คนในชุมชนและผู้เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งนอกจากคนในชุมชนกลุ่มต่างๆ แล้ว ยังมีหน่วยงานที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในระหว่างการดำเนินการวิจัยร่วมกับชุมชนรวมถึงยังมีหน่วยงานอื่นๆ ที่คาดว่าจะสามารถประสานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาชุมชนหัวทุ่งได้ในอนาคตเข้าร่วมกิจกรรม

กิจกรรมการนำเสนอข้อมูลวิจัยในครั้งนี้แบ่งการนำเสนอข้อมูลออกเป็นสองส่วนหลัก ได้แก่ ส่วนของซุ้มนิทรรศการที่ได้นำเสนอองค์ความรู้ที่ได้รับตามหัวข้อต่างๆ ดังเช่น หัวข้อ“ดิน น้ำ ป่า และทรัพยากรธรรมชาติ” ซึ่งได้มีการสาธิตการสานก๋วยโดยใช้วัตถุดิบจากต้นไผ่ที่คนในชุมชนได้ร่วมกันอนุรักษ์ไว้ในรูปแบบของป่าไผ่เศรษฐกิจ มาแปรรูปเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน รวมถึงเป็นการสร้างรายได้เสริมให้แก่คนในชุมชนได้อีกทางหนึ่ง  หัวข้อ “การใช้ประโยชน์และการแปรรูปทรัพยากร” นำเสนอผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสมุนไพร เช่น น้ำสมุนไพร ลูกประคบสมุนไพร ฯลฯ  หัวข้อ “เกษตรปลอดภัยพึ่งตนเอง” คนในชุมชนได้นำพืชผักพื้นบ้านปลอดสารพิษมาจำหน่ายให้แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรม  หรือหัวข้อ “การกำจัดขยะและของเสียในชุมชน” ที่ได้นำเสนอกระบวนการกำจัดของเสียรูปแบบต่างๆ ที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงสร้างประโยชน์ให้แก่คนในชุมชน เช่น การแปรรูปวัสดุอินทรีย์เป็นก๊าซชีวภาพเพื่อการใช้ประโยชน์ในครัวเรือน หรือธนาคารขยะ ฯลฯ

นอกจากนั้น การวิจัยในครั้งนี้ยังทำให้เกิดการสร้างแนวทางการพัฒนาศักยภาพของคนในชุมชน ซึ่งถือเป็นทรัพยากรสำคัญในการขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนในทุกมิติ ดังที่เห็นได้จากซุ้มนิทรรศการ “การส่งเสริม และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์” ที่มีการนำเสนอกิจกรรมต่างๆ เพื่อการพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนร่วมกับสถานศึกษาในชุมชน ทั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านทุ่งละครหรือโรงเรียนบ้านทุ่งละคร โดยเฉพาะโรงเรียนบ้านทุ่งละครได้นำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้เป็นกิจกรรมสำหรับการเรียนการสอนในโรงเรียน เช่น โครงการส่งเสริมอาชีพ โครงการผลิตชาใบหม่อน เป็นต้น ซึ่งองค์ความรู้เหล่านี้ทำให้ชุมชนสร้างแนวทางในการปรับตัวเพื่อการพึ่งตนเองอย่างเหมาะสม รวมถึงสามารถพัฒนาศักยภาพคนในชุมชนโดยมีพื้นฐานมาจากวิถีชีวิต วัฒนธรรม และภูมิปัญญาในท้องถิ่นเอง

นอกจากการจัดซุ้มนิทรรศการแล้ว คณะนักวิจัยยังได้จัดการนำเสนอข้อมูลผ่านเวทีเสวนา โดยในช่วงแรกเป็นการเสวนาในหัวข้อ “จากปัญหาสู่การพัฒนาการพึ่งตนเองของชุมชนหัวทุ่ง” โดยมีผู้ร่วมเสวนาเป็นตัวแทนชาวหัวทุ่ง 3 รุ่น ประกอบด้วยพ่อหลวงสุขเกษม สิงห์คำ ผู้ใหญ่บ้าน นายประจักษ์ บุญเรือง หรือลุงเปี๊ยก ประธานป่าชุมชน และนายสหรัฐ คำซาว หรืออาร์ม เยาวชนบ้านหัวทุ่ง โดยลุงเปี๊ยก ประธานป่าชุมชน ได้เริ่มต้นเล่าถึงสถานการณ์ด้านทรัพยากรของบ้านหัวทุ่งว่า บ้านหัวทุ่งเป็นชุมชนที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะทรัพยากรป่าไม้ซึ่งเกิดจากการร่วมกันฟื้นฟูผืนป่าในชุมชนจากแต่เดิมมีสภาพเสื่อมโทรมให้กลับมีความอุดมสมบูรณ์โดยใช้เวลานานหลายสิบปี ทำให้ปัจจุบันคนในชุมชนยังคงสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรป่ารวมถึงยังคงร่วมกันดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้ได้อย่างเหมาะสม ส่งผลให้ชุมชนได้รับการสนับสนุนโครงการพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจากหน่วยงานต่างๆ อยู่เสมอ

พ่อหลวงสุขเกษมได้เล่าเสริมจากลุงเปี๊ยกว่า นอกจากชุมชนจะมีกลไกในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้มีความอุดมสมบูรณ์แล้ว สิ่งที่ชุมชนให้ความสำคัญอย่างมากอีกประการหนึ่งคือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยที่ผ่านมาการที่คนในชุมชนได้ดำเนินการวิจัยเพื่อท้องถิ่นเป็นกระบวนการสำคัญที่ทำให้เกิดการพัฒนาศักยภาพคนในชุมชน ซึ่งทำให้ชุมชนก้าวไปไกลกว่าชุมชนอื่นๆ อย่างไรก็ตามความท้าทายของชุมชนคือการพัฒนาคนในชุมชนที่ต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเรียนรู้ของคนในชุมชนจากรุ่นสู่รุ่นซึ่งเป็นแนวทางที่จะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน เช่นเดียวกับอาร์ม เยาวชนบ้านหัวทุ่ง ที่ได้กล่าวว่าคนรุ่นผู้ใหญ่ได้ให้ความสำคัญกับเด็ก และเยาวชนในชุมชนเป็นอย่างมาก รวมถึงเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมในการทำงานด้านการพัฒนาเช่นเดียวกับคนกลุ่มอื่นๆ โดยจากการดำเนินการวิจัยที่ผ่านมา กลุ่มเยาวชนได้มีโอกาสร่วมศึกษาดูงาน ณ บ้านแม่กลางหลวง ดอยอินทนนท์ และได้นำแนวคิดการกำหนดเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลามาปรับใช้ในชุมชน เพื่อเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำ และแหล่งอาหารที่หลากหลายของชุมชน ซึ่งได้ทำให้เกิดการเรียนรู้การทำงานร่วมกัน ฝึกทักษะการทำงานเพื่อการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นต่อไปในอนาคต

กิจกรรมการเสวนาในช่วงต่อมา เป็นเวทีที่เปิดพื้นที่ให้หน่วยงานต่างๆ ได้ร่วมให้ข้อคิดเห็น และเสนอแนวทางในการทำงานร่วมกับชุมชน โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภายในชุมชนและหน่วยงานในพื้นที่ใกล้เคียงเข้าร่วมการเสวนา ตั้งแต่ครูจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านทุ่งละคร โรงเรียนบ้านทุ่งละคร โรงพยาบาลเชียงดาว เจ้าหน้าที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16โครงการหลวงห้วยลึก พัฒนาชุมชนอำเภอเชียงดาว รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ สมาชิกสภาจังหวัดเชียงใหม่ นอกจากนั้นยังมีหน่วยงานต่างๆ ที่ได้ดำเนินกิจกรรมพัฒนาร่วมกับชุมชนมาแล้ว เช่น สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บริษัท Local Alike ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ เครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชนจังหวัดเชียงใหม่ นักวิชาการและตัวแทนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น)

โดยหน่วยงานต่างๆ ได้เสนอแนวทาง และโอกาสในการทำงานร่วมกับชุมชนในด้านต่างๆ ดังเช่น สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งที่ผ่านมาได้เข้ามาดำเนินการติดตั้งท่อแก๊สชีวภาพภายในชุมชน และในอนาคตมีแผนในการเผยแพร่ความรู้ด้านการใช้งาน การแก้ไขปัญหาในเบื้องต้น ความรู้ด้านความปลอดภัยของการใช้ก๊าซชีวภาพ หรือโรงพยาบาลเชียงดาวที่ได้มีการเจาะเลือดเพื่อตรวจหาสารพิษในร่างกายของเกษตรกรมาแล้ว โดยในอนาคตมีแผนกิจกรรมส่งเสริมการใช้น้ำคลอโรฟิลล์ รวมถึงการตรวจคุณภาพของผลิตภัณฑ์น้ำสมุนไพร ส่วนพัฒนาชุมชนอำเภอเชียงดาว มีแผนที่จะเข้ามาร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ในชุมชนให้เป็น OTOP รวมถึงพัฒนาเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เช่นเดียวกันกับบริษัท Local Alike ซึ่งได้ดำเนินกิจกรรมด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวร่วมกับชุมชนมาแล้วระยะหนึ่ง ได้มีแผนการพัฒนาผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวที่เน้นการเรียนรู้ระหว่างนักท่องเที่ยวกับชุมชนโดยมีพื้นฐานกิจกรรมท่องเที่ยวจากวิถีชีวิตของชุมชนเอง เช่น กิจกรรมการสานก๋วย การจัดการทรัพยากรของชุมชน เป็นต้น ซึ่งหน่วยงานต่างๆ ได้นำองค์ความรู้ที่ได้รับจากงานวิจัยมาใช้ในการต่อยอดเพื่อสร้างแนวทางการทำงานร่วมกับชุมชนได้อย่างครอบคลุมหลากหลายมิติ

หลังจากกิจกรรมการนำเสนอข้อมูลแล้วในช่วงบ่าย ชาวชุมชนหัวทุ่งได้นำผู้เข้าร่วมกิจกรรม “การท่องเที่ยววิถีพึ่งตนเอง” เริ่มต้นจากการเดินป่าศึกษาธรรมชาติ เที่ยวชม “น้ำออกรู” แหล่งต้นน้ำสำคัญของลำน้ำปิง ชมภูมิปัญญาในการดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้ของชุมชนที่มีการผสมผสานแนวทางการจัดการป่าไม้แบบสมัยใหม่ จากการสนับสนุนของหน่วยงานต่างๆ กับการจัดการด้วยภูมิปัญญาชาวบ้าน เช่น การบวชป่า ต่อด้วยการเที่ยวชมสวนเกษตรผสมผสาน และปิดท้ายด้วยการชมการสาธิตการสานก๋วยซึ่งเป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวที่มีพื้นฐานมาจากฐานทรัพยากร และวิถีชีวิตของคนในชุมชน ทำให้นักท่องเที่ยวยังได้รับประสบการณ์จากการเรียนรู้วิถีชีวิตวัฒนธรรมของชุมชนอย่างเต็มเปี่ยม

กิจกรรมการนำเสนอข้อมูลจากการวิจัยในครั้งนี้นอกจากจะเป็นการเผยแพร่ข้อมูล และองค์ความรู้ที่ชุมชนได้รับจากการดำเนินการวิจัยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาให้แก่คนในชุมชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับทราบแล้ว กิจกรรมนี้ยังทำให้เกิดการสร้างพื้นที่ในการทำงานระหว่างชุมชนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้รับมาใช้ในการต่อยอดเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งแม้ชุมชนหัวทุ่งจะเน้นประเด็นการพึ่งตนเองแต่การทำงานด้านต่างๆ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพย่อมจำเป็นที่จะต้องอาศัยการทำงานของหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านร่วมกับองค์ความรู้ของชุมชนท้องถิ่น

ดังที่ในระหว่างการเสวนา ผู้ร่วมเวทีได้สะท้อนให้เห็นว่า แม้ชุมชนจะมีทรัพยากรในด้านต่างๆ ทั้งทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรม และมีการพัฒนาศักยภาพของคนในชุมชนอย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งที่ชุมชนเห็นว่าสิ่งสำคัญประการหนึ่งมากที่สุดอีกประการหนึ่งคือ การที่หน่วยงานต่างๆ เล็งเห็นความสำคัญของชุมชน และเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นร่วมกับคนในชุมชน ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาที่ต่อเนื่อง ครอบคลุมในทุกมิติของชุมชน และสามารถเป็นต้นแบบของชุมชนพึ่งตนเองอย่างยั่งยืนได้อย่างแท้จริง

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

หม่อมราโชทัย (หม่อมราชวงศ์กระต่าย อิศรางกูร)

นายณรงค์ชัย ทาคำห่อ